รายการแข่งขัน
มวยไทยฟีเวอร์แดนผู้ดี! แห่เรียนล้นค่าย 'รองตั๋ว' เร่งเครื่อง 'วีซ่ามวยไทย' ดันเรียนถึงต้นตำรับ โกยเงินเข้าไทย
ปรากฏการณ์ มวยไทยฟีเวอร์ กำลังแผ่ขยายในหมู่ชาวอังกฤษอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อค่ายมวยไทยทั่วกรุงลอนดอนเต็มไปด้วยผู้เรียนทุกเพศทุกวัยที่หลงใหลในศาสตร์การต่อสู้แม่ไม้มวยไทย จน "รองตั๋ว" นางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ต้องเร่งต่อยอดความนิยมนี้ ด้วยการผลักดันโครงการ "วีซ่ามวยไทย" เพื่อสานฝันให้ชาวต่างชาติได้มาเรียนรู้ศิลปะมวยไทยถึง "ประเทศต้นกำเนิด" หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ
ล่าสุด "รองตั๋ว" พร้อมคณะผู้บริหาร กกท. ได้เดินทางมายังประเทศอังกฤษ เพื่อติดตามโครงการ "โร้ดโชว์ มวยไทย มาสเตอร์ คลาส 2025" และเยี่ยมชมค่ายมวยไทยที่ได้มาตรฐานในกรุงลอนดอนถึง 4 แห่ง ได้แก่ Sakchai Camp, Jttmuaythai Gymbrixton, Keddles Gym และ Lumpinicrewley พร้อมมอบป้ายรับรอง "Standard Muaythai Gym" (SMG) เพื่อยืนยันคุณภาพและความเป็นมาตรฐานของค่าย
นางโปรดปราน เปิดเผยว่า "ปีนี้ กกท. ตั้งเป้าหมายที่จะขยายผลความสำเร็จของซอฟต์พาวเวอร์มวยไทยให้เติบโตทั่วโลก การมาอังกฤษครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าความต้องการเรียนมวยไทยนั้นสูงมาก และผู้ที่เรียนในต่างประเทศก็มีความใฝ่ฝันที่จะมาเรียนรู้ถึงประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาทักษะ แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เพราะพวกเขาไม่ได้มาคนเดียว แต่อาจมาทั้งครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนในค่าย ซึ่งเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมาก"
"สิ่งที่ค่ายมวยในอังกฤษต้องการมากที่สุดคือเรื่องวีซ่า ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยกำลังดำเนินการขอวีซ่าประเภทพิเศษ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาเรียนมวยไทยในระยะยาว 180 วัน และสามารถต่ออายุได้อีก 1 ปี เนื่องจากหลักสูตรมวยไทยที่ได้มาตรฐานต้องใช้เวลาเรียนถึง 25 ชั่วโมง หรือประมาณ 1 เดือน นอกจากนี้ ยังต้องการองค์ความรู้เรื่องมวยไทยที่ถูกต้อง ซึ่งเรากำลังพัฒนาให้เป็นมาตรฐาน 'มวยไทยเป็นหนึ่งเดียว' หรือ 'เนชั่นแนล มวยไทย' ที่จะครอบคลุมตั้งแต่ผู้ฝึกสอน นักกีฬา ผู้ตัดสิน ค่ายมวย ไปจนถึงผู้จัดการแข่งขัน เพื่อให้ทั้งในและต่างประเทศใช้มาตรฐานเดียวกัน" รองผู้ว่าการ กกท. กล่าวเสริม
[ เกร็ดมวย 7M ]
- ความนิยมมวยไทยในอังกฤษนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากจำนวนผู้สมัครเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกค่าย และความหลากหลายของผู้เรียนที่มีทั้งชาย หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งต่างจากในอดีตที่มวยไทยอาจถูกมองว่าเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่ม